งดรับถุงหรือเลิกแต่งตัว (อะไรช่วยโลกได้มากกว่า)

บรรจุภัณฑ์พลาสติก

ปัจจุบัน การตะหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมคงเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วกัน และพวกเราส่วนมากก็คงมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่มากก็น้อย เลือกบริโภคแบรนด์สินค้าและสนับสนุนกิจการของแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแน่นอนการ เลือกบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ก็ดูเหมือนเป็นตัวเลือกต้นๆ ที่พวกเราถือปฎิบัติกัน ในเชิงการตลาด สินค้าแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ต่างรู้แนว หันมารับลูก อย่างร้านสะดวกซื้อเชนยักษ์ 7-11 ก็งดแจกถุงพลาสติก ให้กับลูกค้าที่แวะเพื่อซื้อสินค้า”สะดวกซื้อ” สะดวกรับประทานกัน แต่ตอนนี้(อาจ)ไม่ได้สะดวกถือ ทำเอาลูกค้าต้องลำบากขึ้น หอบของกินหลายไซส์พะรุงพะรัง (คือมันไม่เหมือนไปช๊อปปิ้ง ที่เราไปห้างๆ และก็เตรียมตัวนำถุงผ้าไปซือของจริงจัง

ร้านกาแฟรุ่นใหญ่ Starbucks / true coffee ก็สนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วกาแฟมาจากบ้าน มีส่งเสริมการขาย สร้างแรงจูงใจด้วยการลดราคา เทรนด์นี้ทั้งร้านเล็กใหญ่ ก็ตามกันมา … Amazon Coffee ของ ปตท ก็เอากับเขา แถมไปต่ออีกด้วยการเปลี่ยนมาใช้ eco-cup ย่อยสลายได้ หรือ พี่สตาร์บัคส์ไม่อาจน้อยหน้าด้วยการเลิกใช้หลอดพลาสติก แต่หันมาให้หลอดกระดาษแทน ว่ากันตามจริง ก็ไม่ค่อยเหมาะกับการดูดเครื่องดื่มเย็นสักเท่าไหร่ เพราะกระดาษจะยุ่ยและก็ทำให้เครื่องดื่มมีกลิ่นรสแปลกไป

จากสายรีเทลมาโรงพยาบาลทั้งรัฐทั้งเอกชน ต่างงดถุงพลาสติกหรือไม่ก็แจกถุงผ้าถุงกระดาษ เอาตามจริง พอไปหาหมอบ่อยเข้า ก็รู้สึกว่าไม่ช่วยเท่าไหร่ เราเริ่มมีถุง(ใช้ซ้ำได้)มากขึ้น แต่ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร คือถุงพลาสติกกร็อบแกร็บยังเอาใส่ขยะในครัวได้ ไม่ก็ไว้ซ้อนถังผงในบ้าน แต่ถุงกระดาษนี่ทำได้แต่ซ้อนไว้ชั่งกิโลขาย แถมมีความรู้สึกว่า ถุงกระดาษใบหนึ่งผลิตขึ้นมาก็น่าจะมี carbon footprint ไม่น้อย

สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า – ธุรกิจสิ่งทอ)

เสื้อผ้าแฟชั่นก็ตามมา ล่าสุด Uniqlo เตรียมงดให้ถุงพลาสติกสีขาวใบเขื่อง และยังทำโครงการ เช่นตั้งกล่องรับบริจาคเสื้อเก่า นำไปคัดแยกเป็นหมวดหมู่ที่ตรงความต้องการของผู้รับ เพื่อให้นำไปใช้ได้จริง หรือการพัฒนากระบวนการผลิตให้ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการฟอกยีนส์ด้วยวิธีโอโซน หรือการแต่งผิวด้วยเลเซอร์

Fashion Items ราคาถูงลง (ทุกคนเข้าถึงได้) น่าจะเป็นเรื่องดี

ความตั้งใจที่ดี กับความพยายามริเริ่มเป็นเรื่องที่ดี ต่างคนต่างทำเท่าที่ทำได้ สิ่งแวดล้อมของเราก็น่าจะค่อยๆดีขึ้น แต่ปัญหาของเรามันก็ใหญ่เสียเหลือเกิน คือมันหนักหนาสะสม แบบที่ว่าเราต้องลดการปล่อยก๊าซ CO2 ให้ได้ 2.6หมื่นตันทุกๆ 2 ปี ต่อเนื่องไปอีกหนึ่ง(1) ทศวรรษ ถึงจะส่งผลอย่างมีนัยยะ ให้ภาวะโลกร้อนดีขึ้น

ไม่น่าเชื่อว่า สินค้าแฟชั่นเป็นปฎิปักษ์ต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก มีการประเมินกันว่า อุตสาหกรรมนี้เพียงตัวเดียว ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นกว่า 10% ของ CO2 ทั้งหมดที่มนุษย์เราทำให้เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น น้ำถูกใช้ในกระบวนการผลิตเป็นปริมาณมหาศาล รู้หรือไม่ว่าเราต้องใช้น้ำถึง 2700 ลิตรเพื่อผลิดเสื้อคอตต้อน 1 ตัว (ปกติมนุษย์เราดื่มน้ำเฉลี่ยวันละ 8 แก้ว แปลว่าการผลิตเสื้อตัวเดียว ต้องใช้น้ำมากขนาดที่คนหนึ่งคนไป 3.5 ปีเลย) ว่ากันที่จริง มีการประเมินว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอใช้น้ำมากเป็นที่ 2 เมื่อเทียบกับการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมดของมนุษย์ชาติ

ยังไม่นับถึงสารเคมีมากชนิดที่ใช้ในการผลิต กระบวนการส่วนใหญ่ก็ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ต้นเหตุของการปล่อยสาร CO2 แถมด้วยNO NO2 SO2และออกไซด์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาในขั้นตอนอื่นๆอีก ไม่ว่าจะเป็นการทอฟอกย้อม สุดท้ายปลายทาง โรงงานก็ปล่อยทิ้งน้ำเสียจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็มีโลหะหนักเจือปนตกต้าง อาทิปรอท ตะกั่ว สารหนู แต่ที่หนักหนาสาหัสกัน เพราะสินค้าแฟชั่นเหล่านี้ ส่วนใหญ่ผู้ผลิตในประเทศที่มีค่าแรงตำ่อย่าง จีน อินเดีย บังคลาเทศ ที่การควบคุมโดยหน่วยงานรัฐไม่เข้มงวด ทำให้น้ำเสียถูกปล่อยทิ้งไปโดยไม่ผ่านการบำบัดน้ำเสียที่ถูกหลักวิชาการ และเหมาะสม เพื่อช่วยลดค่าของเสียให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก่อนปล่อยออกแม่น้ำ คูคลองสาธารณะ ทำให้ในที่สุดน้ำเสียจำนวนมากก็ถูกทิ้งออกสู่ทะเลและมหาสมุทร

จนมีคำกล่าวว่าอุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างมลภาวะมากที่สุดของโลก

เทรนด์ล่าสุดของโลกแฟชั่น อย่างการที่เราหันมาใส่เสื้อผ้า fast & casual ใช้เสื้อผ้าเรียบง่าย ราคาไม่แพง ดันให้การบริโภคเสื้อผ้าใหม่ กระโดดขึ้นเป็นเท่าตัว แทบจะทุกปี ตั้งแต่ปี 2000 อุปสงค์ที่ถูกเร้าจากราคาถูก สไตล์เรียบง่าย (ร่วมส่งเสริมกันถ้วนหน้าโดยวงการแฟชั่นที่ต่างออกคอลเล็คชั่นเนื้อผ้าหรือสไตล์ใหม่เพิ่มขึ้น จากเดิมปีละ 2 ชุด เป็น 5 ชุดโดยเฉลี่ย) ทำให้เราซื้อเสื้อผ้าเพิ่มกันถึง 60% ต่อคนต่อปี ประเมินกันว่าพวกเราชาวโลก 8พันล้าน (8,000,000,000) คน ใช้เสื้อผ้าใหม่กันมากถึงปีละ 8หมื่นล้าน (80,000,000,000) ตัวกันทีเดียว

The waters of the River Ganges (Image: .iberdrola.com)

และเสื้อผ้าแนวใหม่ราคาย่อมเยานี้ ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากเส้นใยสังเคราะห์จากกระบวนการปลายน้ำของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไม่ว่าจะเป็นไนล่อน โพลีเยสเตอร์ หรือเส้นใยชื่ออ่านยากอีกหลายตัว ซึ่งที่เราอาจนึกไม่ถึง ก็คือการซักผ้า ยิ่งเรามีเสื้อผ้าใช้เยอะ (ใส่หลายตัว หลายชิ้น หรือเปลี่ยนบ่อยๆ ตามแต่กิจกรรมของแต่ละช่วงวัน) พอเรานำไปซัก น้ำซักผ้าจะชะล้างคราบสกปรกและปล่อยไมโครพลาสติก (microfibers) ออกมาจำนวนหนึ่ง อย่างเสื้อใยสังเคราะห์หนึ่งชุดจะปล่อย microfiber 1.7 gram ออกมากับน้ำที่ซักล้าง และประมาณ 40%ของพลาสติกพวกนี้ สุดท้ายก็ไหลลงคลองสาธารณะและปลายทางที่มหาสมุทร ถูกกินโดยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋ว ถูกกินโดยปลาเล็ก และก็ปลาใหญ่ เป็นทอดๆกันไป จนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ของพวกเราชาวมนุษย์ในที่สุด มีการคำนวณว่าน้ำซักผ้าทั้งหมดในโลก เป็นตัวการปล่อยไมโครพลาสติกออกสู่มหาสมุทรรวมกันต่อปี ในปริมาณมากถึง 500,000ตัน หรือเทียบเท่ากับ ขวดพลาสติก 5หมื่นล้าน (50,000,000,000) ใบทีเดียว แน่นอน การมีเสื้อผ้าให้เลือกใส่มากขึ้น ทำให้เราเปลี่ยนคอลเล็คชั่นส่วนตัวบ่อยขึ้น เสื้อผ้่ที่เราไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่หมด เราก็ต้องนำมันทิ้งไป ซึ่งในแต่ละวัน จะมีเสื้อผ้าถูกนำไปทิ้งในปริมาณเท่ากับ1 คันรถดัมพ์ต่อวินาทีกันเลย

หลายปีมานี้ ปัญหานี้ มีการหยิบยกมา และวงการเสื้อผ้า(อุตสาหกรรมแฟชั่น)ก็ตื่นตัว พยายามปรับตัว และริเริ่มกันตั้งแต่ปี 2019

  1. มีการประชุมร่วมกัน และรวมกลุ่มกันทำข้อตกลง ที่จะลดการปล่อยก๊าซ ปรับปรุงกระบวนการตั้งแต่วัตถุดิบ ระบบการผลิตไปจนถึงโลจิสติกส์ เป้าหมายคือลดการปล่อยก็าซให้ได้ 30% ภายในปี 2030 มีการ(กำหนดเป้าหมายระหว่างอุตสาหกรรม)
  2. ร่วมกันใช้พลังงานสะอาด ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ที่สร้างมลภาวะมากกว่า
  3. สร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อหาวัตถุดิบที่ดีต่อโลกมากขึ้น ลดการใช้เส้นใยทอขึ้นใหม่ (virgin material) หรือวัตถุดิบสังเคราะห์จากปิโตรเคมี รวมถึงหาทางนำวัตถุรีไซเคิลมาใช้เป็นตัวเลือกให้มากขึ้น
  4. ร่วมมือกับผู้ให้บริการขนส่ง ชิปปิ้ง ซึ่งธุรกิจสิ่งทอเป็นผู้ใช้บริการรายใหญ่อันดับต้นๆ ผลักดันให้วงการสายเรือ ปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อลดการปล่อยก๊าซในการเดินเรือทะเล

น่าเสียดาย ผ่านไป 2 ปี ตั้งแต่กำหนดเป้าหมายร่วมกัน องค์กร Stand.Earth เพิ่งประกาศ Fossil-Free Fashion Scorecard หลังประเมิน 47 แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลก พบว่าความพยายามทำตามข้อตกลง ค่อนข้างล้มเหลว …. กว่าสามในสี่หรือ 75% ของผู้ร่วมประชุมได้รับคะแนน เกรด F คือสอบตกไม่เป็นท่า … ลองดูตัวอย่างแบรนด์ใหญ่ที่เราคุ้นเคยกัน

NIKE ที่ได้เกรด C+) เขาทำงานกับโรงงานให้เปลี่ยนแหล่งจ่ายพลังงานให้ความร้อน พยายามลดการใช้ เชื้อเพลิงถ่านหินมากใช้พลังสะอาดให้มากขึ้น หรืออย่างการมีเป้าหมายชัดเจน พร้อมแผนปฎิบัติการให้ทั้งฝ่ายผลิตและขนส่ง โดยลงมือทำงานกับโรงงานหลายแห่ง จับเชื่อมต่อกับ ผู้จำหน่าย พลังงานสะอาด ทั้ง US / EU

LEVI’s มีการตั้งเป้าหมาย ทำแผนชัดเจน ลงไปถึงระดับโรงงานผลิตเช่นกัน พร้อมมีเงื่อนไขการให้แรงจูงใจ และแผนการช่วยเหลือด้านการเงิน แต่ยังไม่มีความชัดเจนในแผนปรับปรุงเรื่องขนส่ง ทางลีวายส์ก็เลยได้เพียง เกรด C

ยังนับว่าสอบผ่าน ไม่ถึงกับต้องซ้ำชั้น แต่ก็ยังไม่อาจนับว่าทำได้ดี เพราะได้แค่ C/C+

เราในฐานะผู้บริโภค เริ่มที่ตัวเรา ขอเพียงเริ่มต้น ไม่ต้องรอใคร

  • ลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ ใช้ของเดิมที่อยู่ล้นตู้ให้นานขึ้น
  • ซื้อเสื้อผ้ามีคุณภาพ เน้นความคงทน ใช้งานได้นาน
  • สนับสนุนแบรนด์ที่มีนโยบายใส่ใจสิ่งแวดล้อม
  • ใช้เสื้อผ้าซ้ำ อย่างเสื้อคลุมภายนอก อย่างสูท แจ็กแก็ต ก่อนนำไปซัก
  • คิดเยอะๆก่อนทิ้งเสื้อผ้าเก่า เช่น ซ่อม ดัดแปลง บริจาค ขายต่อให้ร้านมือสอง
  • ซื้อจากร้านมือสอง แลกกัน หรือ เช่า **

หมายเหตุ:

** ธุรกิจหลายอย่างจากความพยายามจากกลุ่มคนที่เห็นปัญหาและหาทางออก ที่เป็นทางเลือกช่วยจัดการกับเสื้อผ้าใช้แล้ว แต่ยังมีคุณค่า หลายกิจการมีแผนธุรกิจชัดเจน และมีโอกาสทางการตลาดและมี เช่น RentTheRunWay ที่นำเสื้อผ้าใส่ออกงานมาให้เช่าใช้ หรือ VINTED ที่อังกฤษ และ TokyoCheapo


ที่มาของข้อมูล

Internation Labour Organization
Greenofchange.com
IBERDROLA
SustainYourStyle.org
Stand.Earth
FastCompany
EcoTextile.com
GreenQueen


ติดตาม GreenTips ได้ทุกช่องทาง
🌐 : greentips.net
Facebook: Bio100Percent
Line: @BIO100
IG: instagram.com/bio100plus

แฟชั่นเพิ่มอุณหภูมิโลก
Tagged on: